หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

Management Information System (MIS)


จรรยาบรรณในการใช้คอมพิวเตอร์  
        
       โลกปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า โลกแห่งยุคไอที ซึ่งหมายรวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาระบบคมนาคมและข้อมูลข่าวสารอันเป็นการลดระยะทางการติดต่อระหว่างประเทศ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าคอมพิวเตอร์ย่อมมีบทบาทสำคัญในยุคของข้อมูลข่าวสาร และ เมื่อคอมพิวเตอร์มีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้นเท่าใด สิ่งที่ต้องยอมรับความจริง คือ เทคโนโลยีที่ใช้ย่อมมีจุดเด่นจุดด้อยทั้งสิ้น ทั้งที่มาจากเทคโนโลยีหรือมาจากผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเอง
ปัจจุบันผลลบของการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คือ การก่อให้เกิดปัญหาการขยายตัวของอาชญากรรมข้ามชาติและก่อให้เกิดรูปแบบอาชญากรรมใหม่ๆ ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น เช่นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

1. อาชญากรรมคอมพิวเตอร์คืออะไร
    อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ มีการให้นิยามไว้เป็น 2 นัย
นัยแรก อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หมายความถึงการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์ และทำให้ผู้เสียหายนั้นได้รับความเสียหาย ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้กระทำความผิดนั้นได้รับประโยชน์ เช่น การลักทรัพย์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
นัยที่สอง อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หมายความถึงการกระทำใดๆ ที่เป็นความผิดทางอาญา ซึ่งจะต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในการกระทำความผิดนั้น เช่น การบิดเบือนข้อมูล (Extortion), การเผยแพร่รูปอนาจารผู้เยาว์ (Child pornography), การฟอกเงิน (Money Laundering), ฉ้อโกง (Fraud), การถอดรหัสโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยไม่รับอนุญาต แล้วเผยแพร่ให้ผู้อื่นดาวน์โหลดได้ บางครั้งเรียกว่า การโจรกรรมโปรแกรม (Software Pirating), การจารกรรม หรือ ขโมยข้อมูล/ ความลับทางการค้าของบริษัท(Corporate Espionage) เป็นต้น

2. ประเภทของอาชญากรรมคอมพิวเตอร์
    ปัจจุบันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่มีผลกระทบต่อชีวิต ระบบรักษาความปลอดภัย และระบบเศรษฐกิจ การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์แยกออกได้เป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ส่วนที่สอง คอมพิวเตอร์เป็นวัตถุที่ถูกกระทำความผิด และส่วนที่สาม การใช้คอมพิวเตอร์หาประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาติ
จากสามส่วนดังกล่าว สามารถแยกประเภทของอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ได้เป็น 9 ประเภท ดังนี้

1) อาชญากรรมที่เป็นการขโมยข้อมูล ซึ่งหมายรวมถึงการขโมยข้อมูลจาก internet service provider หรือผู้ให้บริการ หรือผู้ที่มีเว็บไซท์ในอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงการขโมยข้อมูลเพื่อที่จะใช้ประโยชน์ในการลักลอบใช้บริการ เช่น การขโมยข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์โทรศัพท์เพื่อที่จะสามารถควบคุมการใช้โทรศัพท์ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเอาข้อมูลนั้นมาเป็นประโยชน์คือเป็นการแอบใช้บริการฟรี

2) อาชญากรนำเอาการสื่อสารผ่านทางคอมพิวเตอร์มาขยายความสามารถในการกระทำความผิดของตน เช่นอาชญากรธรรมดาทั่วไปที่ทำผิดเกี่ยวกับการขนหรือค้ายาเสพติด ใช้การสื่อสารผ่านทางคอมพิวเตอร์ติดต่อกับเครือข่ายอาชญากรรมของตนเพื่อขยายความสามารถในการประกอบอาชญากรรม ซึ่งรวมไปถึงการใช้คอมพิวเตอร์ปกปิด กลบเกลื่อนการกระทำของตนไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า encryption หรือการตั้งรหัสการสื่อสารขึ้นมาเฉพาะระหว่างหมู่อาชญากรด้วยกันซึ่งผู้อื่นไม่สามารถเข้าใจได้

3) การละเมิดลิขสิทธิ์ การปลอมแปลง ไม่ว่าจะเป็นการปลอมแปลงเช็ค การปลอมแปลงรูป เสียง หรือการปลอมแปลงสื่อทางคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า มัลติมีเดีย หรือรวมทั้งการปลอมแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับอาชญากรรมประเภทนี้ ได้แก่
MPAA v. Reimerdes: Cracking DVD with DeCss
ในปลายปี 1999 DVD ขนาดห้านิ้ว ได้เข้าสู่ตลาดทดแทนวีดีโอ VHS ที่เราดูกันเมื่อก่อนนี้ ผู้เล่นดีวีดี ได้เล่นแผ่นภาพยนตร์ หรือมิวสิควิดีโอชนิดดิวีดินี้กับเครื่องเล่นดีวีดีเฉพาะ หรือ กับเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งกับโน๊ตบุ๊คด้วย อย่างไรก็ตาม ดีวีดีสามารถเล่นได้บนคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดน์ว และแมคเท่านั้น แต่ไม่สามารถเล่นได้กับเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบโอเพ่นซอส ของลีนุกซ์ (Linux)
แต่ปรากฎว่า วัยรุ่นอายุ 15 ปีชาวนอร์เวย์ชื่อ Jon Johansen ได้คิดค้นโปรแกรมที่เรียกว่า DeCSS ในการถอดรหัสระบบป้องกันการทำซ้ำของดีวีดี DeCss ทำให้นักโปรแกรมเมอร์ทั้งหลายเขียนโปรแกรมตามหลัก DeCss เพื่อทำให้เล่นดีวีดีบนเครื่องคอมพิวเตอร์ทีใช้ลีนุกซ์ได้
เรื่องราวบานปลาย เพราะกลุ่มแฮคเกอร์ที่มีเว๊บไซต์ชื่อว่า 2600.com ได้ทำการเผยแพร่ ซอสโค๊ด DeCss และนอกจากนั้นทำการลิงค์ไปยังเว๊บต่าง ที่มีการพิมพ์ ซอสโค๊ด DeCss เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ไม่นานนัก ปรากฎว่าบรรณาธิการเว๊บ 2600.com สองคนชื่อว่า Eric Corley และ Shawn Reimedes ถูกฟ้องในข้อหาทำการกำจัดระบบป้องกันการทำซ้ำ และเผยแพร่วิธีการกำจัดระบบดังกล่าว ซึ่งการกระทำอันละเมิด DMCA มาตรา 1201(a)(2)
ศาลแห่งรัฐนิวยอร์กได้ตัดสิน ในวันที่ 7 กันยายน 2000 ว่า ให้บรรณาธิการทั้งสองทำการลบข้อมูลที่เกี่ยวกับ DeCss และยกเลิกการทำการเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ที่มีข้อมูลดังกล่าวเสียด้วย

4) การใช้คอมพิวเตอร์และการสื่อสารผ่านทางคอมพิวเตอร์ซึ่งมีเครือข่ายทั่วโลกเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร รวมถึงข้อมูลที่ไม่สมควร ซึ่งการจะเป็นภาพลามกอนาจาร หรือไม่สมควรนั้น อาจจะมีปัญหาคุณค่าวัฒนธรรมของแต่ละสังคมว่าจะรับได้หรือไม่ รวมทั้งการใช้คอมพิวเตอร์บอกกล่าวข้อมูลที่ไม่สมควรที่จะเผยแพร่ เช่นวิธีการในการก่ออาชญากรรม หรือสูตรในการผลิตระเบิด

5) การฟอกเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้อุปกรณ์ทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารเป็นเครื่องมือทำให้สามารถกลบเกลื่อนอำพรางตัวตนของผู้กระทำความผิดได้ง่ายขึ้น

6) อันธพาลทางคอมพิวเตอร์ หรือพวกก่อการร้าย ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะผู้มีจิตใจชั่วร้ายเป็นอาชญากรเท่านั้นที่ทำสิ่งเหล่านี้เพื่อรบกวนผู้ใช้บริการ แต่ยังมีพวกชอบท้าทายทางเทคนิค อยากรู้อยากเห็นว่าสามารถเข้าไปแทรกแซงระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นได้มากน้อยเพียงใด
อันธพาลทางคอมพิวเตอร์เปรียบได้กับเด็กเกเรตามท้องถนนที่ชอบวาด พ่นสีให้เลอะเทอะ อันธพาลดังกล่าวจะทำเช่นเดียวกันคือเข้าไปในเครือข่ายคอมพิวเตอร์แล้วทำลายข้อมูล หรือตัดต่อ ดัดแปลงภาพ หรือทำสิ่งไม่สมควรต่างๆ นานา เพื่อรบกวนผู้อื่น
นอกจากนั้นยังรวมไปถึงผู้ก่อการร้าย (terrorist) ที่ใช้อินเตอร์เน็ตในการเผยแพร่ข้อมูลข่มขู่ผู้อื่น ที่น่ากลัวที่สุดเกี่ยวกับการก่อการร้ายโดยใช้เครื่องมือสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์คือการเข้าไปแทรกแซงทำลายระบบเครือข่ายของสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าในปัจจุบันนี้สาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเรื่องการจ่ายน้ำ จ่ายไฟ หรือการจราจร ส่วนใหญ่จะควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ก่อการร้ายพวกนี้สามารถเข้าไปแทรกแซงและทำให้ระบบเหล่านี้ให้ทำงานไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับหน่วยงานบริการสาธารณูปโภคที่จะต้องพยายามหามาตรการป้องกัน โดยต้องพยายามหาจุดอ่อนของตัวเองให้ได้ว่ามีจุดอ่อนต่อการที่ถูกก่อการร้ายได้อย่างไรบ้าง

7) การค้าขายหรือชวนลงทุนโดยหลอกลวงผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การให้บริการทางคอมพิวเตอร์มีอยู่มากและสามารถทำเงินได้เป็นอย่างดี แต่มีพวกหลอกลวงประกาศโฆษณาโดยไม่ได้ให้บริการจริง หรือชักชวนให้เข้าร่วมลงทุนแต่ไม่ได้มีกิจการเหล่านั้นจริงๆ ซึ่งบางครั้งจะเห็นว่าโฆษณาหลายอย่างดีเกินไปกว่าที่จะเป็นของจริง แต่ก็มีผู้ถูกหลอกหลายราย

8) การเข้าแทรกแซงข้อมูลและนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นประโยชน์ต่อตนโดยมิชอบ เช่นการที่สามารถผ่านอินเตอร์เน็ตเข้าไปแล้วเข้าไปเจาะล้วงเอาความลับเกี่ยวกับรหัสหมายเลขของบัตรเครดิต เพื่อนำมาเป็นประโยชน์ในการก่ออาชญากรรมต่อไป หรือแม้กระทั่งการล้วงความลับทางการค้าซึ่งสามารถทำได้โดยผ่านทางอินเตอร์เน็ตซึ่งอาจเป็นลักษณะของการดักฟังข้อมูลเพื่อที่จะนำมาเป็นประโยชน์กับกิจการของตนเอง

9) การโอนเงิน เมื่อสามารถเข้าไปในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของธนาคารได้แล้วจะใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ไปเปลี่ยนแปลง ดัดแปลงข้อมูล และโอนทรัพย์สินหรือเงินจากบัญชีหนึ่งเข้าไปอีกบัญชีหนึ่งได้โดยที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนถ่ายทรัพย์สินกันจริง แต่ผลคือสามารถได้ทรัพย์สินนั้นมาด้วยการผ่านทางคอมพิวเตอร์

3. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์
ปัญหาเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์มีดังนี้
1) ปัญหาเรื่องความยากที่จะตรวจสอบว่าจะเกิดเมื่อไร ที่ไหน อย่างไร ทำให้ยากที่จะป้องกัน ส่วนในบริษัทที่มีระบบการป้องกันข้อมูลของตัวเองนั้นก็เสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องยอมรับว่าค่อนข้างอันตราย และเป็นการประกอบอาชญากรรมที่ใกล้ชิด คือสามารถเข้าไปในบ้าน ไปโน้มน้าวจิตใจวัยรุ่น ชักชวนให้ออกมากระทำความผิดได้ง่าย ซึ่งค่อนข้างจะเห็นพิษภัยในส่วนนี้
2) ปัญหาในเรื่องการพิสูจน์การกระทำความผิด และการตามรอยของความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดที่เกิดขึ้นโดยผ่านอินเตอร์เน็ต คงมีคำถามว่าการที่สามี hack เข้าไปในคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลเพื่อแก้ไขโปรแกรมการรักษาพยาบาลภรรยา หรือหลาน hack เข้าไปในคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลเพื่อจะแก้ไขโปรแกรมการรักษาพยาบาลของลุงนั้น ตำรวจสืบทราบได้อย่างไร หากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในไทย จะมีกรรมวิธีในส่วนนี้อย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องผู้ใช้ทางอินเตอร์เน็ต จะพิสูจน์ได้อย่างไร เพราะผู้ใช้ในกรณีธรรมดายังยากจะลงโทษหากดูตามคำพิพากษาฎีกาซึ่งลงโทษผู้ใช้น้อยมาก
3) ปัญหาการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากหลักฐานในอาชญากรรมธรรมดาอย่างสิ้นเชิง
4) ความยากลำบากในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมเหล่านี้มักเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ
5) ปัญหาความไม่รู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าพนักงานดังกล่าวมีงานล้นมือ โอกาสที่จะศึกษาเทคนิคใหม่ๆ หรือกฎหมายใหม่ๆ ทำได้น้อย ประเทศไทยมีผู้พิพากษาประมาณ 2,000 คน อัยการประมาณ 1,600 - 1,700 คน ต่อจำนวนประชากร 60 ล้าน ตำรวจจะมีค่อนข้างมากแต่ตำรวจมักเข้าเกี่ยวข้องกับ street crimes มากกว่าอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ แม้แต่เพียงอาชญากรรมทางเศรษฐกิจธรรมดา เช่นความผิดเกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร หากมีการกระทำในหัวเมือง เขตอำเภอ กิ่งอำเภอ และมีการไปแจ้งความกับนายดาบอายุมาก ผลของคดีคงจะเปลี่ยนไปทันที
6) ปัญหาการขาดกฎหมายที่เหมาะสมในการบังคับใช้ กฎหมายแต่ละฉบับบัญญัติมานาน 40-50 ปี แม้แต่กรณีการจูนโทรศัพท์มือถือ ยังต้องใช้กฎหมายเก่าคือพระราชบัญญัติวิทยุโทรคมนาคม .. 2498 มาใช้ ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5354/2539 พิพากษาว่าไม่ผิดฐานลักทรัพย์เมื่อเทียบกับฎีกาเรื่องกระแสไฟฟ้า แต่ผิดพระราชบัญญัติดังกล่าว ทำให้เห็นชัดว่ายังขาดความทันสมัยของการมีกฎหมายที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ NECTEC ก็พยายามแก้ไขให้แล้ว โดยจัดให้มีการร่างกฎหมายในส่วนนี้ออกมาถึง 6 ชุดด้วยกัน
7) ปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากจนทางราชการตามไม่ทัน เช่นราชการพยายามตามรอยการโอนเงินโดยกฎหมายฟอกเงิน แต่ขณะนี้การโอนเงินนั้นใช้วิธีโอนผ่านอินเตอร์เน็ตแล้ว เพราะฉะนั้นยิ่งทำให้สิ่งซึ่งยังไม่มีกฎหมายออกมากลับพบปัญหามากยิ่งขึ้น

4. แนวทางการแก้ไขปัญหา
1) ควรมีการวางแนวทางและกฎเกณฑ์ในการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทราบว่าพยานหลักฐานเช่นไรควรนำเข้าสู่การพิจารณาของศาล เพื่อให้ลงโทษผู้กระทำความผิดได้
2) ให้มีคณะทำงานในคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ พนักงานสอบสวนและอัยการอาจมีความรู้ความชำนาญด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์น้อย จึงควรให้บุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในด้านดังกล่าว เข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินคดี
3) จัดตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะในการป้องปรามและดำเนินคดีอาชญากรรมดังกล่าว
4) บัญญัติกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีอยู่ให้ครอบคลุมอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ กฎหมายเฉพาะดังกล่าวต้องครอบคลุมการกระทำอันเป็นความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ทุกประเภท และไม่กำหนดความผิดแก่การกระทำที่ผิดมารยาทในการใช้คอมพิวเตอร์แต่ถึงขนาดไม่เป็นความผิดอาญา
5) ส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศทั้งโดยสนธิสัญญาเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา หรือโดยวิธีการอื่น ในการสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี และการป้องปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์
6) เผยแพร่ความรู้เรื่องอาชญากรรมคอมพิวเตอร์แก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ให้เข้าใจแนวคิด วิธีการของอาชญากรทางคอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันตนจากอาชญากรรม
7) ส่งเสริมจริยธรรมในการใช้คอมพิวเตอร์ ทั้งโดยการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคคลทั่วไปในการใช้คอมพิวเตอร์อย่างถูกต้อง และโดยการปลูกฝังเด็กตั้งแต่ในวัยเรียนให้เข้าใจกฎเกณฑ์ มารยาทในเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์และเครือข่ายดังกล่าว

5. มารยาททั่วไปในการใช้เครือข่าย
ปัจจุบันมีความพยายามจากหลายๆ ฝ่ายได้พยายามหามาตรการป้องกันปัญหา และภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งมักเกิดจากคนที่ขาดจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่สร้างจิตสำนึกที่ดีทั้งตนเอง และคนรอบข้างเพื่อหลีกเลี่ยงและรับมือกับความเสี่ยงภัยอนไลน์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมารยาททั่วไปในการใช้เครือข่ายกับผู้ใช้อืนๆ มีดังนี้
1) ไม่ใช้เครือข่ายเพื่อการทำร้ายหรือรบกวนผู้อื่น
2) ไม่ใช้เครือข่ายเพื่อการทำผิดกฎหมาย หรือผิดศีลธรรม
3) ไม่ใช้บัญชีอินเทอร์เน็ตของผู้อื่น และไม่ใช้เครือข่ายที่ไม่ได้รับอนุญาต
4) ไม่คัดลอกโปรแกรม รูปภาพ หรือสิ่งใดบนอินเทอร์เน็ตมาใช้ โดยมิได้ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
5) ไม่ ฝ่าฝืนกฎระเบียบของหน่วยงานหรือบริษัทที่ท่านใช้บริการอินเทอร์เน็ต
6) ไม่เจาะระบบเครือข่ายของตนเองและผู้อื่น ไม่ท้าทายให้คนอื่นมาเจาะระบบ
7) การติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นบนอินเทอร์เน็ต ต้องกระทำด้วยความสุภาพเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน
8) หากพบรูรั่วของระบบ พบเบาะแส หรือ บุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น ให้รีบแจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือผู้ดูแลระบบทันที
9) เมื่อจะเลิกใช้ระบบอินเทอร์เน็ตอย่างถาวร ให้ลบข้อมูลและแจ้งผู้ดูแลระบบ อย่าทิ้งร้างบัญชีอินเทอร์เน็ตเป็นเวลานาน เพราะอาจเปิดช่องโหว่ให้มิจฉาชีพเจาะระบบเข้ามาสร้างความเสียหายได้

6. การหลีกเลี่ยงและรับมือกับภัยออนไลน์
1) หลีกเลี่ยงการระบุชื่อจริง เพศ หรืออายุ เมื่อใช้บริการบนอินเทอร์เน็ต เพราะตามสถิติแล้ว เพศหญิงตกเป็นเป้าของคนร้ายมากกว่าเพศชาย และเด็กตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ใหญ่
2) หลีกเลี่ยงการส่งข้อมูลส่วนตัว ภาพถ่ายของตนเองหรือบุคคลในครอบครัวทางอินเทอร์เน็ต เพราะรูปภาพอาจโดนตัดต่อ ข้อมูลส่วนตัวอาจส่งผลร้ายหากตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพ
3) หลีกเลี่ยงการโต้ตอบกับบุคคล หรือข้อความที่ทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ เพราะทุกคนมีสิทธิปฏิเสธกับผู้อื่นได้อิสระ
4) หลีกเลี่ยงการสนทนาหรื อนัดหมายกั บคนแปลกหน้า คนแปลกหน้า ในที่นี้หมายถึงเพื่อนที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต เพราะเราไม่อาจตรวจสอบตัวตนของเขาว่าเป็นจริงอย่างที่บอกหรือไม่
5) หลีกเลี่ยงการสั่งซื้อสินค้าหรือสมัครสมาชิกโดยมิได้อ่านเงื่อนไขให้ละเอียดเสียก่อน มีสินค้าต้องห้าม รวมถึงมีลัทธิความเชื่อต่างๆ มากมายที่สังคมไม่ยอมรับอยู่บนอินเทอร์เน็ต
6) ไม่คัดลอกโปรแกรม ข้อมูล รูปภาพ หรือสิ่งใดจากอินเทอร์เน็ต โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่ได้ผ่านการตรวจสอบไวรัสคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมแอบแฝงที่อาจนำความเสียหายมาสู่เครื่องคอมพิวเตอร์และเครือข่ายของตน
สำหรับการหลีกเลี่ยงภัยจากอินเตอร์เน็ตเป็นเพียงการป้องกันตนเองเท่านั้น แต่ความรับผิดชอบต่อสังคมที่ทุกคนพึงมีคือการมีมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ถ้าทุกคนในสังคมแห่งไซเบอร์ช่วยกัน โลกไร้อาชญากรรมคอมพิวเตอร์อย่างแน่นอน